ความน่าเป็นห่วงทะเลชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต
โดย อำนาจ ตันติธรรมโสภณ
วันนี้ภูเก็ตฝั่งตะวันออกเป็นที่หมายปองของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งทุนไทยและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าราคาที่ดินบริเวณนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากราคาไร่ละไม่กี่แสนบาท เมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นราคาไร่ละหลายล้านบาทในปัจจุบัน เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ความหนาแน่นของการพัฒนาบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะ ทำให้ที่ดินบริเวณริมทะเล ชายหาด และ เนินเขา ซีวิว มีราคาแพงมาก ประการที่สอง เกิดจากกระแสการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวในทะเล การจัดทำโครงการขนาดใหญ่ Marina – Sea – World Center ของภาครัฐบาลในอ่าวภูเก็ตซึ่งได้ผ่านมติ ครม. ไปแล้วอย่างเงียบๆ เมื่อเร็วๆนี้ และ ประการที่สาม การเกิดธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์ซึนามิ ทำให้นักลงทุนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีการหวาดกลัวในภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์บริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามันฟากตะวันตกของเกาะภูเก็ต เพราะชายฝั่งตะวันออกของเกาะแทบจะไม่มีผลกระทบในเหตุครั้งนั้นเลย
“ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว ภูเก็ตฝั่งตะวันออกเป็นที่นิยมของนักลงทุนไปโดยปริยาย”
นอกจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอ่าว มีภูมิทัศน์สวยงามล้อมรอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ มีความสะดวกสบายในการเดินทางทะเลด้วยเรือขนาดต่างๆ เพราะคลื่นลมไม่รุนแรงในฤดูมรสุมแล้ว อ่าวภูเก็ตและอ่าวพังงายังเต็มไปด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ นับหลายแสนไร่เหมะสมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการพัฒนาโครงการ Marina Center ต่างๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากนั้นก็คือ สภาพธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมซึ่งจะแยกอธิบายออกเป็น 2 ประการ คือ ธรณีวิทยาชายฝั่ง และระบบนิเวทชายฝั่ง
ธรณีวิทยาชายฝั่ง
ธรณีวิทยาชายฝั่งของเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันออก ซึ่งไล่เรียงลงมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ สะพานสารสินจรดแหลมกา สภาพชายฝั่งเป็น “หาดเลน” และแหลมหิน ซึ่งประกอบด้วยหินโคลน หินดินดาน และหินทรายแป้งแทรกสลับหินชุดภูเก็ตนี้จะมีรอยแตกและรอยแยกอยู่ทั่วไป จึงมีความเปราะบางที่จะสึกกร่อนและพังทลายอย่ารวดเร็ว ถ้ามีการขุดตักหรือทำลายจากน้ำมือมนุษย์อย่างรุนแรงกระบวนการพังทลายนั้นจะลุกลามเป็นลูกโซ่คลอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง ยากที่จะยับยั้งไม่ให้พังทลายได้
ระบบนิเวศชายฝั่ง
ระบบนิเวศเป็นหน่วยพื้นฐานเชิงหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน การทำหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของสสารระหว่างส่วนที่มีชีวิตและส่วนที่ไม่มีชีวิตทำให้เกิดระบบนิเวศขึ้นมา การทำงานของระบบนิเวศ มักจะมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องนำเอาผลประโยชน์จากระบบนิเวศมาใช้ จนทำให้เกิดการขาดสมดุลระบบนิเวศ
โครงสร้างของระบบนิเวศชายฝั่ง ประกอบด้วยส่วนประกอบของระบบนิเวศ 6 ส่วนด้วยกัน คือ
- ส่วนประกอบอินทรีย์ ได้แก่ หินดินทรายในระบบธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประกอบด้วยแร่ธาตุ เช่น Carbon Nitrogen, co2 และ Oxygen
- สารประกอบอินทรีย์ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ได้จาก พืช ป่าชายเลน และสัตว์ชายฝั่ง เช่น ปู, ปลา, กุ้ง, และหอย
- ภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ, แสงแดด, ความชื้น, และลม
- ผู้ผลิต ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่เป็นพืช
- ผู้บริโภคขนาดเล็ก ได้แก่ พวกแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เป็นต้น
- ผู้บริโภคขนาดใหญ่ ได้แก่ สัตว์กินพืช หรือ สัตว์กินสัตว์ เช่น ลิง, ปู, ปลา, กุ้ง, หอย ฯลฯ
ความน่าเป็นห่วงของการพัฒนาก็คือ มนุษย์ หรือที่เรียกตัวเองว่า นักพัฒนา นั้นจะไปทำลายส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน อย่างแน่นอน คือ ระบบธรณีวิทยาชายฝั่งและระบบนิเวศชายฝั่ง
การทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และโครงสร้างของระบบนิเวศ อันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการ Marina นั้นเกิดจาก การทำอู่จอดเรือ ทางเข้า – ออกของเรือทุกขนาดในการทำทางเข้า – ออกของเรือนั้น จะต้องดำเนินการขุดลอกคลองขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยมีร่องรอยของธรรมชาติเดิมมาก่อน และคลองที่จะขุดเข้ามาหาชายฝั่งนั้นก็มีขนาดโตพอที่เรือท่องเที่ยว และเรือสำราญสามารถเข้าเทียบท่าได้ตลอดเวลา มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 15 เมตร และความลึกเกินกว่า 10 เมตร “ป่าชายเลน” โครงสร้างธรณีวิทยาชายฝั่งจะถูกทำลายและมีผลอย่างรุนแรง ตะกอนที่ถูกขุดลอกจะแผ่กระจายไปในท้องทะเล ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งและปะการังเสียหายในบริเวณกว้างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ห่วงโซอาหาร รวมถึงประมงชายฝั่งพินาศไปด้วย ชุมชนสิ่งมีชีวิตชายฝั่งจะหายไปหมด โดยเฉพาะบริเวณปากอ่าวและบริเวณปากน้ำ
ปัญหาและแนวโน้มของทรัพยากรชายฝั่งและธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ชายฝั่งที่ตามมามีหลายประการ
- ปัญหาห่วงโซ่อาหารและการขาดแหล่งที่เพาะพันธ์สัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์น้ำชายฝั่งจะสูญพันธ์
- ปัญหาการพังทลายของดินและการแผ่กระจายของตะกอนดินชายฝั่ง สู่ทะเลลึกในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก
- ปัญหามลพิษชายฝั่ง และมลพิษทางน้ำทะเล
- ปัญหาการแทรกดันตัวของระดับน้ำทะเล เข้าสู่แผ่นดินในชั้นน้ำจืด และการขาดแคลนน้ำจืดในอนาคต
- ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลน จะถูกทำลายหมดไปและไม่มีป่าชายเลนเป็นกำแพงกั้นมรสุมตะวันออก หรือพายุลูกใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- ปัญหาภัยพิบัติแก่มวลมนุษย์ชาติ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งโดยเฉพาะการเกิดธรณีพิบัติภัยหรือแผ่นดินไหวขึ้น อย่าลืมว่า เกาะภูเก็ตนั้น ตั้งอยู่ระหว่างรอยเลื่อนพังงา และรอยเลื่อนมะรุ่ยซึ่งสงบมานานแล้ว หากมีการสะสมพลังอย่างต่อเนื่องจากแผ่นดินไหว ก็อาจเกิดการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซ้ำสองอีกได้
ถึงเวลาแล้วหรือยัง?
ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรชายฝั่ง, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมเจ้าท่า, หน่วยงานที่ดูแลป่าชายเลน, อุทยานแห่งชาติจังหวัดพังงา, อบต., อบจ. ตลอดจนภาคเอกชนทุกส่วน จะหันมาร่วมมือพัฒนาชายฝั่ง และธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างจริงจังและเป็นระบบเสียที เพราะทุกครั้งที่เกิดความสูญเสียก็สายเกินไป
|