www.phuketgroundwater.com
  หน้าแรก ผลงานของเรา สาระน่ารู้ ติดต่อเรา
เลือกภาษา English ภาษาไทย

ความน่าเป็นห่วงทะเลชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต

โดย อำนาจ ตันติธรรมโสภณ

วันนี้ภูเก็ตฝั่งตะวันออกเป็นที่หมายปองของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งทุนไทยและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าราคาที่ดินบริเวณนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากราคาไร่ละไม่กี่แสนบาท เมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นราคาไร่ละหลายล้านบาทในปัจจุบัน เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ความหนาแน่นของการพัฒนาบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะ ทำให้ที่ดินบริเวณริมทะเล ชายหาด และ เนินเขา ซีวิว มีราคาแพงมาก ประการที่สอง เกิดจากกระแสการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวในทะเล การจัดทำโครงการขนาดใหญ่ Marina – Sea – World Center ของภาครัฐบาลในอ่าวภูเก็ตซึ่งได้ผ่านมติ ครม. ไปแล้วอย่างเงียบๆ เมื่อเร็วๆนี้ และ ประการที่สาม การเกิดธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์ซึนามิ ทำให้นักลงทุนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีการหวาดกลัวในภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์บริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามันฟากตะวันตกของเกาะภูเก็ต เพราะชายฝั่งตะวันออกของเกาะแทบจะไม่มีผลกระทบในเหตุครั้งนั้นเลย

“ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว ภูเก็ตฝั่งตะวันออกเป็นที่นิยมของนักลงทุนไปโดยปริยาย”

นอกจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอ่าว มีภูมิทัศน์สวยงามล้อมรอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ มีความสะดวกสบายในการเดินทางทะเลด้วยเรือขนาดต่างๆ เพราะคลื่นลมไม่รุนแรงในฤดูมรสุมแล้ว อ่าวภูเก็ตและอ่าวพังงายังเต็มไปด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ นับหลายแสนไร่เหมะสมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการพัฒนาโครงการ Marina Center ต่างๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากนั้นก็คือ สภาพธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมซึ่งจะแยกอธิบายออกเป็น 2 ประการ คือ ธรณีวิทยาชายฝั่ง และระบบนิเวทชายฝั่ง

ธรณีวิทยาชายฝั่ง

ธรณีวิทยาชายฝั่งของเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันออก ซึ่งไล่เรียงลงมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ สะพานสารสินจรดแหลมกา สภาพชายฝั่งเป็น “หาดเลน” และแหลมหิน ซึ่งประกอบด้วยหินโคลน หินดินดาน และหินทรายแป้งแทรกสลับหินชุดภูเก็ตนี้จะมีรอยแตกและรอยแยกอยู่ทั่วไป จึงมีความเปราะบางที่จะสึกกร่อนและพังทลายอย่ารวดเร็ว ถ้ามีการขุดตักหรือทำลายจากน้ำมือมนุษย์อย่างรุนแรงกระบวนการพังทลายนั้นจะลุกลามเป็นลูกโซ่คลอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง ยากที่จะยับยั้งไม่ให้พังทลายได้

ระบบนิเวศชายฝั่ง

ระบบนิเวศเป็นหน่วยพื้นฐานเชิงหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน การทำหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของสสารระหว่างส่วนที่มีชีวิตและส่วนที่ไม่มีชีวิตทำให้เกิดระบบนิเวศขึ้นมา การทำงานของระบบนิเวศ มักจะมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องนำเอาผลประโยชน์จากระบบนิเวศมาใช้ จนทำให้เกิดการขาดสมดุลระบบนิเวศ

โครงสร้างของระบบนิเวศชายฝั่ง ประกอบด้วยส่วนประกอบของระบบนิเวศ 6 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ส่วนประกอบอินทรีย์ ได้แก่ หินดินทรายในระบบธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประกอบด้วยแร่ธาตุ เช่น Carbon Nitrogen, co2 และ Oxygen
  2. สารประกอบอินทรีย์ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ได้จาก พืช ป่าชายเลน และสัตว์ชายฝั่ง เช่น ปู, ปลา, กุ้ง, และหอย
  3. ภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ, แสงแดด, ความชื้น, และลม
  4. ผู้ผลิต ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่เป็นพืช
  5. ผู้บริโภคขนาดเล็ก ได้แก่ พวกแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เป็นต้น
  6. ผู้บริโภคขนาดใหญ่ ได้แก่ สัตว์กินพืช หรือ สัตว์กินสัตว์ เช่น ลิง, ปู, ปลา, กุ้ง, หอย ฯลฯ

ความน่าเป็นห่วงของการพัฒนาก็คือ มนุษย์ หรือที่เรียกตัวเองว่า นักพัฒนา นั้นจะไปทำลายส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน อย่างแน่นอน คือ ระบบธรณีวิทยาชายฝั่งและระบบนิเวศชายฝั่ง

การทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และโครงสร้างของระบบนิเวศ อันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการ Marina นั้นเกิดจาก การทำอู่จอดเรือ ทางเข้า – ออกของเรือทุกขนาดในการทำทางเข้า – ออกของเรือนั้น จะต้องดำเนินการขุดลอกคลองขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยมีร่องรอยของธรรมชาติเดิมมาก่อน และคลองที่จะขุดเข้ามาหาชายฝั่งนั้นก็มีขนาดโตพอที่เรือท่องเที่ยว และเรือสำราญสามารถเข้าเทียบท่าได้ตลอดเวลา มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 15 เมตร และความลึกเกินกว่า 10 เมตร “ป่าชายเลน” โครงสร้างธรณีวิทยาชายฝั่งจะถูกทำลายและมีผลอย่างรุนแรง ตะกอนที่ถูกขุดลอกจะแผ่กระจายไปในท้องทะเล ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งและปะการังเสียหายในบริเวณกว้างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ห่วงโซอาหาร รวมถึงประมงชายฝั่งพินาศไปด้วย ชุมชนสิ่งมีชีวิตชายฝั่งจะหายไปหมด โดยเฉพาะบริเวณปากอ่าวและบริเวณปากน้ำ

ปัญหาและแนวโน้มของทรัพยากรชายฝั่งและธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ชายฝั่งที่ตามมามีหลายประการ

  1. ปัญหาห่วงโซ่อาหารและการขาดแหล่งที่เพาะพันธ์สัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์น้ำชายฝั่งจะสูญพันธ์
  2. ปัญหาการพังทลายของดินและการแผ่กระจายของตะกอนดินชายฝั่ง สู่ทะเลลึกในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก
  3. ปัญหามลพิษชายฝั่ง และมลพิษทางน้ำทะเล
  4. ปัญหาการแทรกดันตัวของระดับน้ำทะเล เข้าสู่แผ่นดินในชั้นน้ำจืด และการขาดแคลนน้ำจืดในอนาคต
  5. ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลน จะถูกทำลายหมดไปและไม่มีป่าชายเลนเป็นกำแพงกั้นมรสุมตะวันออก หรือพายุลูกใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  6. ปัญหาภัยพิบัติแก่มวลมนุษย์ชาติ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งโดยเฉพาะการเกิดธรณีพิบัติภัยหรือแผ่นดินไหวขึ้น อย่าลืมว่า เกาะภูเก็ตนั้น ตั้งอยู่ระหว่างรอยเลื่อนพังงา และรอยเลื่อนมะรุ่ยซึ่งสงบมานานแล้ว หากมีการสะสมพลังอย่างต่อเนื่องจากแผ่นดินไหว ก็อาจเกิดการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซ้ำสองอีกได้

ถึงเวลาแล้วหรือยัง?

ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรชายฝั่ง, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมเจ้าท่า, หน่วยงานที่ดูแลป่าชายเลน, อุทยานแห่งชาติจังหวัดพังงา, อบต., อบจ. ตลอดจนภาคเอกชนทุกส่วน จะหันมาร่วมมือพัฒนาชายฝั่ง และธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างจริงจังและเป็นระบบเสียที เพราะทุกครั้งที่เกิดความสูญเสียก็สายเกินไป